Blog

“แผลเป็นคีลอยด์” (Keloid Scar) EP8

คีลอยด์เป็นแผลเป็นชนิดหนึ่ง ลักษณะของแผลคีลอยด์จะนูนและหนาขึ้นจากผิวหนัง และอาจขยายใหญ่กว่าบาดแผลเดิมที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นแผลก็มีโอกาสที่จะเป็นคีลอยด์ได้เสมอ แต่ส่วนใหญ่แผลเป็นคีลอยด์มักจะเกิดบริเวณติ่งหู ไหล่ แก้มและหน้าอก

แผลเป็นคีลอยด์มักเกิดกับใคร

  • ผู้ที่มีผิวสีเข้ม
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลเป็นคีลอยด์ หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นแผลเป็นคีลอยด์

อาการของแผลเป็นคีลอยด์

  • เป็นก้อนนูนขึ้นจากผิวหนัง มักเกิดบริเวณติ่งหู หัวไหล่ แก้มหรือหน้าอก
  • อาจรู้สึกระคายเคืองบริเวณแผลเป็น
  • อาจรู้สึกคันหรือแสบร้อนได้

วิธีป้องกันแผลเป็นคีลอยด์

  • เมื่อเป็นแผลให้ดูแลแผลให้สะอาด และใช้เจลหรือแผ่นแปะแผลคีลอยด์เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็น
  • ระวังอย่าให้เกิดบาดแผล เมื่อเป็นแผลควรรีบทำการรักษา

เป้าหมายของการรักษาแผลเป็นคีลอยด์

  • เพื่อบรรเทาอาการคันหรือลดอาการเจ็บที่เกิดจากคีลอยด์
  • เพื่อให้แผลเป็นเรียบลงหรือมีขนาดเล็กลง
  • รักษาเพื่อความสวยงาม

การรักษารอยแผลเป็นชนิดนูนหรือแผลเป็นคีลอยด์

  • การฉีดยาบริเวณแผลเป็นเพื่อให้แผลเป็นราบลง ตัวยาที่ใช้ฉีดมีด้วยกันหลายตัว โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ายาตัวไหนเหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด
  • การผ่าตัดเอาแผลเป็นคีลอยด์ออก หลังจากการผ่าตัดแพทย์จะฉีดยาเข้าไปที่บริเวณแผลเป็นเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ แต่วิธีนี้จะได้ผลดีเฉพาะคีลอยด์บางตำแหน่ง
  • การใช้แผ่นซิลิโคนแปะรอยแผลเป็นเพื่อลดการอักเสบและอาการคัน
  • การจี้ด้วยความเย็น (Cryosurgery) 
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ 
  • การทาครีมหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นและเพื่อให้รอยแผลเป็นนิ่มลง

การรักษาโดยใช้หลายวิธีร่วมกันจะได้ผลมากกว่ารักษาด้วยวิธีเดียว  อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นแผลเป็นคีลอยด์แล้ว ยากที่จะรักษาให้ผิวบริเวณนั้นกลับมาเป็นปกติ เพราะคีลอยด์อาจเป็นซ้ำได้หลังการรักษา

You may also like

หูด (warts) EP1