ตุลาคม 20, 2021
หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) EP2หูด (warts) EP1
หูด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) การติดเชื้อเอชพีวีเป็นสิ่งที่พบได้โดยทั่วไป โดยเชื้อ ไวรัสเอชพีวีมีอยู่หลายชนิดและมีบางชนิดที่ทำให้เกิดหูด
ชนิดของหูด หูดมีหลายชนิด เช่น
- หูดธรรมดา (Common Warts) ลักษณะของหูดชนิดนี้จะเป็นตุ่มแข็งที่มีผิวขรุขระ พบบ่อยบริเวณแขน เข่า และบริเวณอื่น ๆ
- หูดฝ่ามือฝ่าเท้า (Palmoplantar Warts) พบได้ที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า
- หูดชนิดแบน (Flat Warts) หูดชนิดนี้มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก มีผิวเรียบ
- หูดหงอนไก่ (Genital Warts, Condyloma Acuminatum) พบบริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณก้น
เชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดธรรมดา หูดฝ่ามือฝ่าเท้า หรือหูดชนิดแบน มักจะเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันไวรัสที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่และยังช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีได้
กลุ่มเสี่ยงต่อโรคหูด
- หูดธรรมดาและหูดฝ่ามือฝ่าเท้า มักพบบ่อยสุดในเด็กและวัยรุ่น
- กลุ่มคนทำงานบางอาชีพ เช่น อาชีพที่ต้องสัมผัสกับเนื้อสัตว์ มีแนวโน้มที่จะเป็นหูดธรรมดาสูงกว่าอาชีพอื่น
- คนที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (ผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิหลังจากผ่าตัดการปลูกถ่ายอวัยวะ) มักจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นหูดที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว
การติดต่อของโรคหูด
หูดติดต่อทางการสัมผัสเชื้อโดยตรงผ่านผิวหนังกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวี การติดเชื้อจะเกิดได้ง่ายขึ้นหากผิวนั้น มีบาดแผล มีรอยถลอก หลังจากผิวหนังมีการเปียกน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือติดเชื้อได้แม้กระทั้งบนผิวหนังปกติ โดยหลังจากได้รับเชื้อเอชพีวี จะมีระยะเวลาฟักตัวของโรคอย่างน้อย 6 เดือนหรือนานกว่านั้นจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังจนกลายเป็นก้อนหูด
อาการของหูด
หูดแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน โดยบางคนอาจเป็นหูดได้มากกว่า 1 ชนิด
หูดธรรมดา (Common Warts) มีลักษณะเป็นตุ่มที่มีผิวขรุขระ มักจะมีรูปร่างเป็นทรงกลมหรือวงรี มีความกว้างน้อยกว่า 1 เซนติเมตร มีโอกาสที่ตุ่มจะขยายใหญ่ขึ้นได้ และหากหูดเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก็อาจขยายรวมตัวกันได้
หูดฝ่ามือฝ่าเท้า (Palmoplantar Warts) พบมากที่บริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้า โดยจะเริ่มจากเป็นไต แผ่นหนาแข็ง มีขนาดเล็ก และอาจกลายเป็นปื้นขนาดใหญ่ขึ้นได้
หูดชนิดแบน (Flat Warts) มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็กมีสีเดียวกับผิว สีชมพู หรือสีน้ำตาล บริเวณที่พบบ่อยคือ ใบหน้า หลังมือ หลังเท้า แขนและขา
การวินิจฉัยโรคหูด
หูดนั้นสามารถวินิจฉัยได้โดยพิจารณาจากลักษณะของหูด หากไม่สามารถพิจารณาด้วยสายตาได้จึงจะใช้วิธีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการส่งตรวจ
วิธีรักษาหูด
แพทย์จะพิจารณาจากตำแหน่งของหูดว่าใช้วิธีใดจึงจะเหมาะสมร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การรักษาหูดส่วนใหญ่สามารถใช้วิธีปล่อยให้หายไปเองโดยไม่ต้องรักษา โดยเฉพาะหูดที่เกิดกับเด็ก เพราะจำนวน 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเด็ก หูดจะหายไปเองภายระยะเวลา 2 ปี แต่ในช่วงนั้นหูดอาจขยายใหญ่ขึ้นหรือเกิดขึ้นใหม่ได้
หูดขนาดเล็กที่มีจำนวนไม่มากจะรักษาง่ายกว่าหูดขนาดใหญ่ที่ขึ้นเป็นกลุ่ม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เลือกเข้ารับการรักษาเนื่องจากหูดก่อให้เกิดความเจ็บปวด ความรำคาญ หรือเพื่อความสวยงาม
การรักษาหูดมีหลายวิธี บางวิธีต้องใช้เวลาในการรักษาตั้งแต่หลายสัปดาห์จนไปถึงหลายเดือนจึงจะเห็นผล แต่ก็อาจจะเป็นหูดซ้ำได้อีก ส่วนหูดฝ่ามือฝ่าเท้าและหูดรอบขอบเล็บนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าหูดชนิดอื่น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นหูดและมีโรคเบาหวานร่วมด้วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะรักษาหูดด้วยตัวเอง
การรักษาหูดโดยแพทย์
1. การรักษาด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) เป็นการจี้ด้วยความเย็น (cryotherapy) เพื่อทำลายหูด โดยอาจต้องทำซ้ำ ๆ จนกว่าหูดจะหาย การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องรักษาโดยแพทย์เท่านั้น การใช้ไนโตรเจนเหลว เป็นวิธีที่มักใช้รักษาหูดทั้งในเด็กโตและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอย่างน้อย 4 – 7 วัน กว่าแผลจะหาย แต่วิธีนี้ไม่นิยมใช้กับเด็กเล็ก เพราะอาจเกิดอาการเจ็บปวดขณะรักษาและทำให้เด็กไม่ให้ความร่วมมือ นอกจากนี้การรักษาด้วยไนโตรเจนเหลวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ที่ทำให้ผิวบริเวณนั้นเป็นวงขาวจากการโดนทำลายของเม็ดสีได้ หากผู้ป่วยกังวลเรื่องผลข้างเคียงนี้ ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา
2. การตัดออก คือการฉีดยาชาเฉพาะที่แล้วใช้ใบมีดตัดหูดออก โดยมีแพทย์เป็นผู้ทำการรักษา
การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น
1. ทาด้วยครีม 5% ฟลูออโรยูราซิล (5-Fluorouracil cream)
2. ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream)
3. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
ทั้งสามวิธีนี้ แพทย์จะเป็นผู้สั่งยาและทำการรักษาโรค
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด จะใช้วิธีทำหรือฉีดสารบางชนิดไปยังบริเวณหูด เพื่อกระตุ้นภูมิของร่างกายให้มาทำลายหูด ซึ่งวิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยรายที่มีหูดจำนวนมากหรือใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
อาการแบบไหนที่ควรปรึกษาแพทย์
● เมื่อไม่แน่ใจว่าตุ่มที่เป็นคือหูดหรือไม่
● เมื่อรักษาหูดด้วยตัวเองที่บ้านแล้วไม่หาย ควรให้แพทย์ตรวจเพื่อยืนยันว่าตุ่มนั้นเป็นหูด ไม่ใช่มะเร็งหรือโรคผิวหนังชนิดอื่น
● เมื่ออยากจะรักษาหูดเองที่บ้าน แต่ไม่แน่ใจว่าควรจะรักษาด้วยวิธีไหน
● เมื่อมีเลือดออกจากหูด และหูดขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
● เมื่อเข้ารับการรักษาหูดและมีอาการผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เช่น ผื่นแดง มีความรู้สึกปวด มีหนองบริเวณที่รักษา ในผู้ป่วยบางคนผื่นแดงและอาการปวดเป็นเรื่องปกติหลังการรักษา ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อทำความเข้าใจถึงผลข้างเคียงของการรักษา