Blog

หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) EP2

หูดข้าวสุกคืออะไร

หูดข้าวสุก คือการติดเชื้อทางผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสมอลลัสคุม คอนทาจิโอซุม ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังหรือการรับเชื้อจากสิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส

อาการ:

  • ผู้ป่วยจะพบตุ่มเนื้อเกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง

ลักษณะ:

  • เป็นตุ่มทรงโดมขนาดเล็กที่มีรอยบุ๋มตรงกลาง
  • เป็นตุ่มสีเดียวกับผิวหรือสีขาว มักจะไม่เจ็บและไม่มีอาการคันบริเวณตุ่ม

หูดข้าวสุก

การได้รับเชื้อ:

  • จากผิวหนังบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่ง หรือจากการเกาหรือสัมผัสตุ่ม
  • จากคนสู่คนขณะเล่นกีฬา การมีเพศสัมพันธ์ หรือขณะทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน
  • จากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส

การป้องกัน:

หากมีหูดข้าวสุกเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ขาอ่อนด้านใน สะโพก หรือบริเวณหัวเหน่า ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าหูดจะหายหรือได้รับการรักษา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น หากเป็นหูดข้าวสุกบนผิวหนังบริเวณอื่นสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ โดยการปิดบริเวณที่เป็นตุ่มในช่วงกลางวันด้วยการสวมเสื้อคลุมหรือติดพลาสเตอร์

ผู้ป่วยไม่ควรใช้ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า มีดโกน หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น แม้ว่าหูดข้าวสุกที่หายแล้วจะไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นอีก แต่ผู้ที่เคยเป็นก็อาจจะติดเชื้อได้อีกครั้ง ดังนั้นวิธีป้องกันการได้รับเชื้อที่ดีที่สุดคือการไม่สัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อดังกล่าว

หากหูดข้าวสุกเกิดขึ้นในเด็กที่ต้องเข้าเรียนในสถานศึกษา ให้ติดพลาสเตอร์หรือสวมเสื้อคลุมบริเวณที่เป็นตุ่ม ส่วนในเด็กที่ตุ่มเกิดขึ้นบริเวณที่ปิดไม่ได้ ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสโดนตัวกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

การรักษา:

เมื่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันปกติเป็นหูดข้าวสุก หูดมักจะหายไปเองภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่การติดเชื้ออาจจะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายเดือนและอาจจะถึงปีหากมีหูดเกิดขึ้นใหม่ ส่วนในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีความเป็นไปได้ที่โรคจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น และระยะเวลาในการติดเชื้อจะนานขึ้น

แพทย์จะแนะนำให้กำจัดหูดข้าวสุกทิ้งในกรณีที่ผู้ติดเชื้ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์และเป็นหูดบริเวณอวัยวะเพศ การเอาหูดบริเวณนี้ออกจะเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ได้

ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อหูดข้าวสุกเป็นเด็ก อาจจะใช้วิธีปล่อยให้หูดหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่จะใช้เวลานาน การรักษาหูดจะทำได้ด้วยเหตุผลเรื่องความสวยงาม หรือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผิวหนังบริเวณอื่น สู่พี่น้อง หรือสู่เพื่อน

การรักษาหูดข้าวสุก มีหลายวิธี เช่น

  • การจี้ทำลายโรคด้วยความเย็น (Cryotherapy)
  • การขูดเพื่อเอาหูดข้าวสุกออก (Curettage)
  • การใช้ยาทาที่มีฤทธิ์เป็นกรด

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาหูดข้าวสุกวิธีไหนที่ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากการรักษามักขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหูด และการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทั้งนี้ การรักษาอาจทำให้มีอาการข้างเคียง คือ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง มีสีผิวผิดปกติหลังการรักษา และอาจทำให้กลายเป็นแปลเป็นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรแกะหรือขูดหูดออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจทำให้หูดข้าวสุกแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นได้

You may also like